กรมการขนส่งทางราง เร่งพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ M-MAP 2 เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น พร้อมเดินหน้าอีก 4 พื้นที่หลักในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มุ่งยกระดับระบบขนส่งมวลชนทางราง ให้คุ้มค่า สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ชีวิตคนกรุง
วันนี้ 6 มิถุนายน 2566 : กรมการขนส่งทางราง จัดการประชุมสัมมนาและสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 1 โครงการเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 โดยได้รับเกียรติจากนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทปราการ เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมฟังการบรรยาย
ในการประชุมสัมมนาดังกล่าว เพื่อนำเสนอแนวเส้นทางโครงการที่ศึกษาเพิ่มเติม และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ต่อยอดเพื่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีความครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึงเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนในอนาคต พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานและภาคประชาชน โครงการดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 12 มิถุนายน 2566 โดยครั้งนี้เป็นการจัดการประชุมกลุ่มย่อยครั้งแรก จัดขึ้น ณ โรงแรมคูณ จังหวัดสมุทรปราการ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom โดยการประชุมกลุ่มย่อยจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 กลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมพื้นที่หลักในเขตกรุงเทพมหานครปริมณฑล ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 จังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มที่ 2 จังหวัดปทุมธานี กลุ่มที่ 3 จังหวัดนนทบุรี กลุ่มที่ 4 จังหวัดนครปฐม และกลุ่มที่ 5 จังหวัดสมุทรสาคร
ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางหรือรถไฟฟ้า เพื่อให้เป็นรูปแบบการเดินทางหลักของประชาชน ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดปัญหาการจราจร ลดมลพิษทางอากาศ ลดการใช้พลังงานในภาคการคมนาคมขนส่ง และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนเป็นสำคัญ โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เปิดให้บริการแล้ว 211 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 135 กิโลเมตร ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนา “แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลักและสายรองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP)” ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างจากการศึกษาแผน M-MAP เดิม จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ ให้มีความครอบคลุม สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต และตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชนอย่างแท้จริง
ปัจจุบัน กรมการขนส่งทางราง อยู่ระหว่างการจัดทำแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง หรือ Railway Demand Forecast Model ขึ้น เพื่อให้เป็นแบบจำลองที่มีความแม่นยำในการคาดการณ์การเดินทางของระบบรางโดยเฉพาะ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนและกำหนดนโยบายในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า การกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การปรับอัตราค่าโดยสาร การปรับปรุงทางเข้า-ออกสถานี และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงและพัฒนาบริการด้านระบบรางแก่ประชาชนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดนโยบายในการพัฒนาระบบราง การกำหนดขนาดสถานี การเข้าถึงสถานี อัตราค่าโดยสาร และเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง ตลอดจนมาตรการทางกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน รวมไปถึงโครงการนำร่องในการพัฒนาแบบจำลองเชิงกิจกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉบับใหม่ หรือ M-MAP 2 ต่อไป
ภาพบรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อย เวทีที่ 1 วันที่ 6 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมคูณ จ.สมุทรปราการ
ภาพบรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อย เวทีที่ 2 วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมธาราแกรนด์ รังสิต จ.ปทุมธานี
ภาพบรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อย เวทีที่ 3 วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมนนทบุรี พาเลซ จ.นนทบุรี
ภาพบรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อย เวทีที่ 4 วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมเวล โฮเทล จ.นครปฐม
ภาพบรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อย เวทีที่ 5 วันที่ 12 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมเซ็นทรัลเพลส จ.สมุทรสาคร