การเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ระบบรางหรือรถไฟฟ้าเป็นรูปแบบการเดินทางหลักอย่างชัดเจนมากขึ้น สืบเนื่องจากการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าตาม “แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลักและสายรองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP)” ซึ่งมุ่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางหรือรถไฟฟ้า ให้ระบบหลักในการเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชน โดยมีพื้นที่การให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และกระจายความแออัดจากใจกลางเมืองไปสู่พื้นที่ชานเมือง ทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งพาณิชยกรรมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากผลการศึกษา M-MAP เดิม ซึ่งศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2552 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการ “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2)” เพื่อเป็นการต่อยอดแผนแม่บทM-MAP เดิม ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต
การศึกษาฯ ในครั้งนี้จะเป็นการทบทวนสถานะปัจจุบันของโครงการรถไฟฟ้าตามแผน M-MAP เดิม จำนวน 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 509 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 211.94 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 90.20 กิโลเมตร
พร้อมศึกษาแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อโครงข่ายขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) ให้เข้ากับโครงข่ายหลักของ M-MAP อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนศึกษามาตรการและแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
รวมทั้งทบทวนโครงข่ายที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เสนอไว้ใน “M-MAP 2 Blueprint” โดยจะมีการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาโครงข่ายในแต่ละเส้นทาง ตามการขยายตัวและการพัฒนาของเมืองในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เมื่อการศึกษาฯ แล้วเสร็จ จะเป็นแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนในโครงข่ายที่มีความจำเป็นในลำดับรอง ให้สอดคล้องสภาวการณ์ในปัจจุบันและทิศทางการพัฒนาในอนาคต
รถไฟฟ้านับว่าเป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถขนส่งผู้โดยสารได้คราวละจำนวนมาก และมีทางวิ่งเฉพาะ ทำให้มีความรวดเร็ว ตรงต่อเวลา ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เป็นระบบขนส่งมวลชนหลักในเมืองเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน โดยในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมาโดยตลอด
พ.ศ. 2515 ที่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลเยอรมนีเพื่อดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้มีการศึกษา ผลักดัน และสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางอย่างต่อเนื่อง โดยใน พ.ศ. 2537 ได้มีการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครฉบับแรก ตามโครงการแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (MTMP) ซึ่งเสนอให้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบราง ระยะทาง 135 กิโลเมตร ภายใน พ.ศ. 2538-2554
พ.ศ. 2539 สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) ได้พัฒนาและปรับปรุง MTMP เพิ่มเติม พร้อมเสนอแนะให้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองเพื่อส่งเสริมการเดินทางเข้าสู่ระบบหลัก เกิดเป็นโครงการศึกษาและออกแบบเพื่อนำแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติ (CTMP) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการขนส่งทางราง มีแผนดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งทางราง 11 โครงการ รวมระยะทาง 206 กิโลเมตร ทว่าภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านฐานะทางการเงินของประเทศ และการพัฒนารถไฟฟ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
พ.ศ. 2543 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง (URMAP) ขึ้น เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ โดยดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงจากแผนแม่บทฉบับเดิม พร้อมเสนอแนะแนวคิดการพัฒนาโครงข่ายแบบรัศมีและวงแหวน กำหนดศูนย์กลางการคมนาคม 3 แห่ง ที่พหลโยธิน มักกะสัน และตากสิน ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง เน้นกระจายความเจริญของเมืองจากศูนย์กลางไปยังบริเวณโดยรอบ เพื่อให้การพัฒนาเมืองกระจายตัวมากขึ้นตามถนนสายหลัก และได้จัดแผนการลงทุนบนพื้นฐานตามสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น
พ.ศ. 2544 – 2547 รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางที่มีความสำคัญเร่งด่วน เพื่อให้โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสามารถรองรับการสัญจรในเส้นทางต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความล่าช้าในการสัญจร จึงได้มีการพัฒนาและปรับปรุงแผน URMAP เป็นโครงการแปลงแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องไปสู่การปฏิบัติ (BMT) โดยกำหนดให้มีโครงข่ายรถไฟฟ้าในพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะมีการใช้ที่ดินอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาการพัฒนาไว้ในช่วงปี พ.ศ. 2547-2552 รวม 7 สายทาง ระยะทาง 291.2 กิโลเมตร
พ.ศ. 2549 รัฐบาลได้ปรับปรุงแผนแม่บทฯ อีกครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายแนวเส้นทางจากแผนแม่บทฉบับเดิมให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น เสนอแนะให้กำหนดสายทางที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก 3 สายทาง รวมเป็น 10 สายทาง อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประเทศไทยประสบปัญหาและอุปสรรคหลายประการทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่กำหนด นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม รูปแบบความเป็นอยู่และการใช้ที่ดิน ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางที่เคยศึกษาไว้ในแผนแม่บทเดิม ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดวาระของแผนในปี พ.ศ.2552
พ.ศ. 2552 สนข. ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region: M-MAP) ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในขณะนั้น และรองรับการพัฒนาในอนาคต โดยแผนได้รับการอนุมัติในหลักการในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นแผนแม่บทที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
พ.ศ. 2560 – 2561 กระทรวงคมนาคมได้ประสานความร่วมมือระหว่าง สนข. และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ในการศึกษาเพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผนโครงข่าย M-MAP 2 (M-MAP 2 Blueprint) เนื่องจากผลจากการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผน M-MAP ทำให้บริบทการเติบโตของเมืองเปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีการขยายตัวออกไปในพื้นที่ชานเมืองมากขึ้น เกิดแหล่งชุมชนและย่านพาณิชยกรรมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รูปแบบการเดินทางของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับในอนาคตประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีความจำเป็นการศึกษาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 เพื่อต่อยอดแผนแม่บท M-MAP เดิม ให้มีความครอบคลุมเพิ่มมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของเมืองและบริบทการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลการศึกษาเดิม
พ.ศ. 2564 กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ซึ่งมีมีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางรางของประเทศ จึงเห็นสมควรให้มีการทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมของการดำเนินงานพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผน M-MAP เดิม ในส่วนที่เหลือ รวมทั้งโครงข่ายเพิ่มเติมตามที่เสนอไว้ใน M-MAP 2 Blueprint เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานและไม่ให้เป็นภาระการลงทุนของรัฐบาลมากเกินความจำเป็น รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนให้ดียิ่งขึ้น
ในการศึกษาโครงการฯ มีเป้าประสงค์สำคัญ ดังนี้
1. เพื่อทบทวนสถานะปัจจุบันของโครงการตามแผน M-MAP และทำการประสานแผนงาน ความก้าวหน้าต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งรวบรวมปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินงานตามแผน M-MAP ตลอดจนการทบทวนแนวทางตาม M-MAP 2 Blueprint
2. เพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง รวมถึงแต่ละเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการที่ได้กำหนดไว้ในแผน M-MAP แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง และทบทวนโครงข่ายที่เสนอไว้ใน M-MAP 2 Blueprint และเสนอเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการขยายตัวและการพัฒนาเมือง
3. เพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) ในการเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ความต้องการในการเดินทางของประชาชนด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง
ผลจากการศึกษาโครงการฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางดังนี้
เกิดแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีความครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานคร
เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ลดความซ้ำซ้อน เพื่อลดการลงทุนและงบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน
วางแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในระยะต่อไปสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและแนวคิดการวางผังเมืองในอนาคต และเกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนให้มีความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สร้างเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางสำหรับใช้ประกอบการจัดทำแผนพัฒนาโครงข่าย แผนงาน หรือนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถส่วนบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม